วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบาทการมีส่วนร่วมการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคต่อชุมชน

  • การสร้างเสริมสุขภาพชุมชนของบุคคลในชุมชนต้องได้รับความร่วมมือจะทุกคนในชุมชน  เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพและคุณภาพที่ดีของคนในชุมชน และสังคมโดยส่วนรวม

    ๑. การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน
    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๒ และ ๘๒ ได้กำหนดให้คนไทยทุกคนได้รับโอกาสและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นปีเริ่มต้นแห่งการรวมพลังสร้างสุขภาพทั่วไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพื่อให้ประชาชนรู้และตระหนักใส่ใจในการสร้างสุขภาพทั้งนี้ เพราะการพัฒนาสุขภาพของประชาชนไม่ใช่หน่วยงานในระบบสุขภาพเท่านั้น หน่วยงานเอกชน องค์กรท้องถิ่น องค์ชุมชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและบริหารจัดการสุขภาพร่วมกัน การดำเนินงานในระบบเปลี่ยนผ่านของระบบสุขภาพจาก การซ่อมสุขภาพไปสู่การสร้างสุขภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำศักยภาพขององค์กรชุมชน บริหารจัดการและดำเนินการด้านสุขภาพด้วยตนเอง โดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพที่มีความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวกับการสร้างสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม อันจะนำไปสู่ความพร้อมในการสร้างสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้
    กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการรณรงค์การสร้างสุขภาพภายใต้กลยุทธ์ รวมพลังสร้างสุขภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ทุกกลุ่มทุกวัยมีความรู้และทักษะด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นให้ศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานีอนามัยเป็นหน่วยบริการสุขภาพหลัก ในการดำเนินงานประสานและเชื่อมโยงกับองค์กรภาคี เครือข่ายสุขภาพชุมชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้นโยบาย ดังกล่าวสัมฤทธิผลและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อมา พ.ศ.๒๕๔๖ ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละชุมชนรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมด้านสุขภาพในรูปของชมรมสร้างสุขภาพ คลอบคลุมทุกชุมชนและหมู่บ้านโดยยึดแนวคิด

    ใช้พื้นฐานบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการเรียนรู้สู่วิถีชุมชน
    อันจะทำให้เกิดการสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนและถาวร ซึ่งเน้นกิจกรรมสร้างสุขภาพตาม นโยบาย ๖ อ
    ในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี
    นโยบาย ๖ อ
    ๑. ส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มอายุ ออกกำลังกาย วันละ ๓o นาที อย่างน้อย ๓ วันต่อสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ
    ๒. ส่งเสริมให้คนไทยเลือกซื้อและบริโภค อาหารที่สะอาดมีคุณค่า และปลอดสารปนเปื้อน
    ๓. ส่งเสริมให้คนไทยสร้าง อนามัย สิ่งแวดล้อมในชุมชนเพื่อความสะอาดปลอดภัยของที่อยู่อาศัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ
    ๔. ส่งเสริมให้คนไทยมี อารมณ์ ที่ดี และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชมรมต่างๆ เช่น ชมรมสร้างสุขภาพของวัยทำงาน เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดีและแจ่มใส
    ๕. ส่งเสริมให้คนไทยปลอดโรค อโรคยา โดยเฉพาะโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตในลำดับแรกๆคือ มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน
    ๖. ส่งเสริมให้คนไทยลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก บุหรี่ สุรา สารเสพติดและการพนันในชุมชน

    ๒. บทบาทของการมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมและพัฒนาสุขภาพของบุคคลในชุมชน
    การมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมและพัฒนาสุขภาพของบุคคลในชุมชน คือการร่วมกิจกรรมที่เอื้ออำนวยให้ผู้คนในชุมชนมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งกิจกรรมดังกล่าวอาจจัดโดยเจ้าหน้าที่องค์กรของภาครัฐ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน หรือการร่วมกลุ่มกันของประชาชนในชุมชน ตัวอย่างกลุ่มหรือชมรมที่ทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพของบุคคลในชุมชน เช่น ชมรมผู้สูงอายุกลุ่มทูบีนัมเบอร์วัน ชมรมแอโรบิก กลุ่มประชาคม/ชมรมสร้างสุขภาพ กลุ่มกีฬา ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ กลุ่มแกนนำเอดส์ กลุ่มแพทย์พื้นบ้าน/สมุนไพร ชมรมรำไม้พลอง กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ สิ่งแวดล้อม

    ตัวอย่างการมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาสุขภาพในชุมชน
    ๑. กิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย การเฝ้าระวัง ปัญหาสารเสพติดในชุมชน การเฝ้าระวังและรักษาสิทธิผู้บริโภค การดำเนินโครงการอาหารผลอดภัย การส่งเสริมพัฒนาการและดูแลการได้รับวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ปี การตรวจสุขภาพตนเองในเบื้องต้น การใช้อินทรีสารและการทำเกษตรอินทรีย์

    ๒. กิจกรรมด้านการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน ได้แก่ การรับการบริการสุขภาพจากศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัย เช่น การทำบัตรทอง การรับการตรวจวัดความดันเลือด การฝากครรภ์

    ๓. กิจกรรมด้านการเข้ารับการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเพื่อพัฒนาสุขภาพในชุมชน ได้แก่ การเข้ารับอบรมความรู้ การเข้าร่วมประชุมกลุ่ม หรือการจัดเวทีเรียนรู้ การรับฟังความรู้ผ่านทางหอกระจายข่าว
    ๔. กิจกรรมด้านการให้ความร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรค ได้แก่ การไม่สูบบุหรี่ การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันการแพ้พิษ/สารเคมี การร่วมรณรงค์ป้องกันโรคตามฤดูกาล เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดนก อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู

    ๕. กิจกรรมด้านการให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพในชุมชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการวางแผนหรือร่วมกิจกรรมสาธารณะสุขในชุมชนตนเอง และสนับสนุนการจัดกิจกรรมสุขภาพที่ริเริ่มจากองค์กรชุมชนท้องถิ่น เช่น ศูนย์สุขภาพ สถานีชุมชน สถานีอนามัย เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสุขภาพโดยใช้ทรัพยากรชุมชนเป็นหลัก มีส่วนร่วมดำเนินงานกับหน่วยราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพ ป้องกันโรค สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ใช้แฟ้มครอบครัวเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ใช้แฟ้มชุมชนเพื่อการวางแผนแก้ไขปัจจัยเสี่ยงในระดับชุมชน

    ๓. ชมรมสร้างสุขภาพ (Health Promotion Club)
    ชมรมสร้างสุขภาพ (Health Promotion Club) หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในกิจกรรมเหมือนๆกัน อาจเป็นกิจกรรมด้านสุขภาพ หรือกิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขภาพ ซึ่งเป็นชมรมหรือกลุ่มที่มีอยู่แล้วในชุมชน หรือมารวมกลุ่มกันใหม่ แล้วสมัครเป็นเครือข่ายชมรมสร้างสุขภาพกับสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาพ และปัญหาอื่นๆของชุมชน และประสานเชื่อมโยงระหว่างชมรมอื่นๆ เป็นเครือข่าย เป็นชมรมสร้างสุขภาพ
    ๓.๑ จุดมุ่งหมายของชมรมสร้างสุขภาพในชุมชน
    ๑) เพื่อส่งเสริมให้ประชานที่สนใจด้านสุขภาพรวมกลุ่มกัน และมีสวนร่วมในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรูด้านสุขภาพในชุมชน อันจะนำไปสู่การสร้างสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน
    ๒) เพื่อให้ชมรมสร้างสุขภาพเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ทุกชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีองค์ความรู้และทักษะในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม
    ๓) เพื่อให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกชมรมสร้างสุขภาพมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง
    ๓.๒ การพัฒนาคุณภาพของชุมชนสร้างสุขภาพ
    ชมรมสร้างสุขภาพในระดับของการพัฒนาคุณภาพมี ๓ ระดับ ดังนี้
    ๑) ระดับที่ ๑ หรือระดับพื้นฐาน เป็นชมรมสร้างสุขภาพที่มีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้แก่สมาชิกในเรื่องการออกกำลังกายสม่ำเสมอและการบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัยได้คุณค่า
    ตัวอย่างชมรมสร้างสุขภาพระดับ ๑หรือระดับพื้นฐาน
    ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพตำบลแร่
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนการออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพเป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกมุ่งเน้นส่งเสริมการออกกำลังกายในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างสุขภาพในชมรมการออกกำลังกายทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านซึ่งมีแนวทางการประเมินผลการออกกำลังกายระดับบุคคล โดยการจัดกิจกรรมวิ่งทดสอบสมรรถภาพระยะทาง ๒.๔ กิโลเมตร ในระดับอำเภอทุกอำเภอ ซึ่งจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกเดือนโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ข้าราชการและประชาชนผู้สนใจทั่วไป ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมวิ่งทดสอบสมรรถภาพ ระยะทาง ๒.๔ กิโลเมตร เพื่อประเมินผลการออกกำลังกายระดับบุคคล ในระดับตำบล และหมู่บ้านด้วย
    ๒) ระดับที่ ๒ ระดับขยายผลกิจกรรม เป็นชมรมสร้างสุขภาพที่มีการจัดกิจกรรมสร้างสุขภาพครอบคลุม ๖อ คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัยได้คุณค่า การส่งเสริมสุขภาพจิต(อารมณ์) การดูแลด้านอนามัยชุมชน การลดละเลิกอบายมุข และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
    ตัวอย่างชมรมสร้างสุขภาพระดับ ๒ หรือระดับการขยายผลกิจกรรม
    ชมรมเสริมสร้างสุขภาพนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมนวดี พาร์ค
    หมู่บ้านจัดสรรมนวดี พาร์ค ได้จัดตั้งชมรมสร้างเสริมสุขภาพขึ้นเพื่อให้สมาชิกที่พักอาศัยในชุมชนมนวดี พาร์ค มีคุณภาพชีวิตกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ดี มีชีวิตปลอดภัยจากอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ
    การบริหารจัดการในโครงการสร้างสุขภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยหลัก ๖อ ได้แก่
    ๑. อ ออกกำลังกาย
    ๒. อ อาหาร
    ๓. อ อนามัยสิ่งแวดล้อม
    ๔. อ อารมณ์
    ๕. อ อโรคยา
    ๖. อ อบายมุข
    เพื่อความยั่งยืนของโครงการต่างๆที่วางไว้ทางคณะกรรมการชมรมสร้างเสริมสุขภาพนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมนวดี พาร์ค จึงได้ดำเนินการโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ใน อ ที่ ๓ คือ อนามัยสิ่งแวดล้อม” “ไข้เลือดออกภัยใกล้ตัวในชุมชน” “รณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันไข้เลือดออกในชุมชน” “โครงการคลองสวยน้ำใสถวายแด่ในหลวงของเรา
    ๓) ระดับที่๓ หรือระดับการสร้างเครือข่าย เป็นชมรมสร้างสุขภาพ ที่มีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพครอบคลุม ๖ อ มีการวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพ ตลอดจนมรการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และเชื่อมโยงระหว่างชมรมอื่นๆ เป็นเครือข่ายสร้างสุขภาพของชุมชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ
    ตัวอย่างชมรมสร้างสุขภาพระดับที่๓ หรือระดับการสร้างเครือข่าย
    ชมรมสร้างสุขภาพบ้านท่าไม้แดง ม.๓ ต.ปากหมาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
    เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ได้นำเอาเทคนิคการวางแผนแบบมีส่วนร่วม โดยใช้กระบวนการ A-I-C บัตรคำ และกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม มาใช้ในการดำเนินงาน หลังจากนั้นจึงได้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของชุมชนที่ว่า อาหารถูกหลัก รู้จักครอบครัว รอบรั้วกินได้ ออกกำลังกายต่อเนื่อง เน้นเรื่องพออยู่พอกิน ท้องถิ่นน่าอยู่ เรียนรู้สุขภาพ จากกระบวนการและวิสัยทัศน์ที่ได้ ทำให้เกิดแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนสร้างสุขภาพ จำนวน ๘ โครงการดังนี้ โครงการกินถูกหลักผลักดันโลก โครงการปลูกผักสดร่วมใจห่างไกลสารเคมี โครงการสานฝันสามวัยสายใจแห่งครอบครัว โครงการออมกันทุกบ้านบริหารบัญชีครัวเรือน โครงการบ้านสะอาด ชุมชนน่าอยู่ โครงการสามวัยร่วมใจออกกำลัง โครงการชีวิตสดใสใส่ใจสุขภาพ โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้
    ๓.๓ การพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพให้เข้มแข็ง
    สามารถดำเนินการได้ ๔ ขั้นตอนดังนี้
    ๑.การตั้งชมรม โดยการส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มกันในการสร้างสุขภาพ เป็นแนวคิดการใช้พลังกลุ่มและกระบวนการกลุ่มของประชาชนมาแก้ไขปัญหาสุขภาพ โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมกลุ่มง่ายๆ ร่วมกัน มีการส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง มีการตรวจสอบประเมินความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของกลุ่ม โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์จำเป็น รวมทั้งกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มสามารถคิด วิเคราะห์ปัญหา กำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา แสวงหาทรัพยากรในการแก้ปัญหา และประเมินความสำเร็จโดยสมาชิกของกลุ่มเองทำการประชาสัมพันธ์ให้เห็นผลประโยชน์แก่ภาครัฐในการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเกิดการพัฒนาทางวิชาการ
    ๒.เตรียมความพร้อมให้กับชมรมโดยการสร้างความเข้าใจร่วมกันในวัตถุประสงค์จุดมุ่งหมาย และแนวทางการบริหารของชมรม
    ๓.ส่งเสริมการจัดกิจกรรมของชมรมให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมความก้าวหน้าในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ ถ้าชมรมขาดความรู้หรือทักษะที่จำเป็น ภาครัฐมีหน้าที่ในการฝึกอบรมโดยเฉพาะการจัดกิจกรรมให้ครอบคลุม ๖ อ
    ๔.การสนับสนุนความเข้มแข็งและยั่งยืนของชมรม ผู้ให้การสนับสนุนต้องเข้าใจสถานภาพทางสังคม วัฒนธรรมชุมชน บทบาทที่สำคัญสำหรับการสนับสนุน ได้แก่ การให้ข้อมูลข่าวสาร การสร้างขวัญกำลังใจ การยกย่องทางสังคม รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็น
    คำศัพท์ที่สำคัญ
    Culture (คัล เชอะ)วัฒนธรรม
    Health promotion club (เฮลธ พระโม ชัน คลับ) ชมรมสร้างสุขภาพ
    Public relations (พับ ลิค ริเล ชัน) ประชาสัมพันธ์
    ๔.การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน
    ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อภาวะสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนทั่วโลก ดังนั้นคนในชุมชนจึงควรมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวทางดังนี้
    ๑.รณรงค์ให้คนในชุมชนลดการใช้พลังงานในบ้าน ด้วยการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้ใช้งาน
    ๒.ใช้หลอดไฟแบบประหยัด เช่น หลอดตะเกียบ หลอดผอม ที่ให้แสงสว่างและประหยัดกว่าหลอดปกติ ๔๐ เปอร์เซ็นต์
    ๓.ขี่จักรยาน ใช้บริการรถประจำทาง หรือใช้วิธีเดินเมื่อไปทำธุระใกล้บ้าน เพื่อลดการใช้น้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

    ๔.จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้น่าอยู่ เปิดหน้าต่างรับลม แทนการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า
    ๕.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยดูจากสัญลักษณ์ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ป้ายฉลากเขียวประหยัดไฟเบอร์ ๕
    ๖.ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เช่น ใช้น้ำที่เหลือจากซักผ้ารดน้ำต้นไม้ ปิดก๊อกน้ำเมื่อฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ แปรงฟัน

    ๗.ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน เพื่อช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทำให้บ้านร่มรื่นเย็นสบาย

    ๘.ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการใช้ถุงผ้าใส่สิ่งของ หรือใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น ใบตองใส่อาหารแทนกล่องโฟม
    ๙.สนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ไม่ต้องขนส่งผลิตผลให้พ่อค้าคนกลางนำไปขายในพื้นที่อื่น

    ๑๐.จัดตั้งชมรมหรือจัดตั้งกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนรวมทั้งให้ความรู้และชักชวนคนใกล้ตัวให้ช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อนในชุมชน เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในชุมชน

    ปัญหาสาธารณสุขในชุมชน มีผลมาจากการไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีความรู้ ให้เกิดความตระหนักถึงการป้องกันโรค และสามารถดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ จึงมีความสำคัญในการช่วยลดปัญหาสาธารณสุขลงได้


    คณะผู้จัดทำบล็อก

    เรื่อง บทบาทการมีส่วนร่วมการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค



    วิชา พ30101   ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2556 


    จัดทำโดย

    1.ญาณันธร รุ้งอาภาจรัสกุล เลขที่3

    2.นพณัช สุฐมานนท์ เลขที่2

    3.ศิณีนาฏ สุทธินวล เลขที่7

    4.สิรภพ ขวัญขจรเกียรติ เลขที่24